เรื่องการเก็บข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงฮาร์ดดิสก์เป็นอันดับแรก แต่อีกไม่นานตัวเก็บข้อมูลแบบฮาร์ดดิสก์ (HDD) ในเครื่องคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊กก็จะหายไป ไม่มีให้เห็นกันแล้ว และเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อของเก่าหายไป ย่อมที่จะมีของใหม่เข้ามาแทน และสิ่งที่จะเข้ามาเป็นตัวเก็บข้อมูลแบบฮาร์ดดิสก์สำหรับโน้ตบุ๊ก คือตัวเก็บข้อมูลที่เรียกว่า SSD นั่นเอง
โดยเจ้าตัวเก็บข้อมูลแบบ SSD นี้ ได้ถูกเริ่มนำมาใช้เป็นหน่วยเก็บข้อมูลสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์จำพวกโน้ตบุ๊กมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่รู้จักมันมากเท่าไหร่นัก และด้วยเหตุนี้เอง Notebook Guide ฉบับต้อนรับปีใหม่นี้ จึงได้นำทุกท่านไปทำความรู้จักกับเจ้า SSD ว่ามันคืออะไร ดีอย่างไร และด้วยเหตุใดมันถึงจะมาเขี่ยเจ้าฮาร์ดดิสก์ (HDD) แบบเก่าในโน้ตบุ๊กให้ตกรุ่นและหายไปจากวงการ ซึ่งทั้งหมดนี้เรามีคำตอบมาฝากกันเช่นเคยครับ
SSD คืออะไร
SSD ย่อมาจาก Solid State Drive ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำการเก็บข้อมูลในรูปแบบ Flash Memory มาประยุกต์ใช้เป็นตัวเก็บข้อมูลแบบถาวรในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันก็มีให้เห็นกันมากมายแล้ว โดยเฉพาะโน้ตบุ๊กจำพวกบางเบา ที่ต้องการเน้นความบางเป็นหลักและเจ้า SSD ที่มีความบางอยู่แล้วจึงเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นตัวเก็บข้อมูลได้เป็นอย่างดี ซึ่งจริง ๆ แล้ว เจ้าตัว SSD นั้น ไม่ได้เพิ่งกำเนิดขึ้นบนโลกนี้เพียงไม่กี่ปีอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ว่าได้ถือกำเนิดขึ้นมานานแล้ว และมีวิวัฒนาการต่อมาอย่างเงียบ ๆ จนเริ่มเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
สำหรับ SSD นั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1950 โดยในช่วงแรกจะใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล 2 แบบคือ Magnetic Core Memory หรือหน่วยความจำแบบแม่เหล็ก และ Card capacitor read-only store (CCROS) หรือการเก็บข้อมูลรูปแบบการ์ดเก็บประจุไฟฟ้า ซึ่งหน่วยความจำเสริม (สมัยนั้นเรียกกันอย่างนี้) รูปแบบนี้เกิดขึ้นในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นแบบหลอดสูญญากาศอยู่ แต่ด้วยความที่สมัยนั้น มีตัวเก็บข้อมูลแบบอื่นที่ราคาถูกกว่าและมีขนาดความจุที่มากกว่า จึงไม่ได้รับความนิยมและได้หยุดการพัฒนาไป ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ได้มีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายรายนำ SSD มาใช้เป็นหน่วยความจำเซมิคอนดักเตอร์ ในซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของพวกเขา และจากนั้นก็ได้มีผู้ผลิตหลายรายที่พยายามผลิตตัวเก็บข้อมูลแบบ SSD ออกมาอย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาในการผลิตที่ยังสูงอยู่ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมเช่นเดิม จนกระทั่งมาในช่วงปี 1995 เจ้า SSD จึงได้ถูกพัฒนามาเป็นรูปแบบของ Flash Memory โดยในช่วงแรกได้ถูกนำไปใช้เป็นหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการทหาร อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รวมไปถึงการใช้งานต่าง ๆ ที่สำคัญและต้องการความปลอดภัยของข้อมูลสูง ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงได้มีผู้ริเริ่มนำมาใช้เป็นหน่วยเก็บข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์แบบพกพาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ประเภทของ SSD
เจ้าตัวเก็บข้อมูลแบบ SSD นั้น จะมีด้วยกัน 2 แบบใหญ่ ๆ คือแบบที่เป็น SDRAM และแบบ NAND Flash สำหรับ SSD แบบที่เป็น SDRAM นั้น จะมีคุณสมบัติคล้าย ๆ กับแรมทั่ว ๆ ไป คือจะต้องมีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้ามาอยู่ตลอดเวลาในขณะทำงาน ซึ่งหมายความว่าเมื่อปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วข้อมูลที่เก็บบันทึกไว้ก็จะหายไป จึงมักที่จะนำมาใช้สำหรับการเก็บข้อมูลแบบ Buffer Cache หรือการเก็บข้อมูลชั่วคราวมากกว่า เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้เร็วกว่า การดึงข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์โดยตรง
ส่วน SSD แบบ NAND Flash จะเป็นแบบที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวเก็บข้อมูลแบบถาวร ซึ่งในปัจจุบันนั้น SSD ที่ใช้เป็นตัวเก็บข้อมูลในเน็ตบุ๊กหรือโน้ตบุ๊กนั้นจะเป็นรูปแบบ NAND Flash ทั้งหมด สำหรับการทำงานนั้น จะมีลักษณะเหมือนกับ Flash Drive เกือบทั้งหมด เว้นแต่ว่าการถ่ายโอนข้อมูลของ SSD จะเป็นแบบ IDE ,SATA โดยแบบ NAND Flash นั้นจะสามารถเก็บข้อมูลได้แบบถาวร และไม่ต้องมีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้ามาตลอดเวลาเหมือนกับแบบ SDRAM ก็สามารถเก็บข้อมูลไว้ได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้วข้อมูลก็จะไม่หายไป ส่วนเรื่องความเร็วในการอ่านและบันทึกข้อมูลนั้น จะช้ากว่าแบบ SDRAM แต่ก็ยังเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนอยู่มาก
SSD VS. HDD
อย่างที่ได้เกริ่นเอาไว้ว่าอีกไม่นาน SSD จะเข้ามาเป็นตัวเก็บข้อมูลในโน้ตบุ๊กแทนที่ฮาร์ดดิสก์จานหมุนแบบเดิมแล้ว ฉะนั้น SSD ย่อมที่จะต้องมีอะไรที่ดีกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนแน่นอน
ซึ่งข้อดีของ SSD ที่เห็นได้ชัดคือ มีความเร็วในการอ่านข้อมูลที่เร็วกว่า กินไฟน้อยกว่า และด้วยการเก็บข้อมูลเป็นรูปแบบของ Chip จึงทำให้เกิดความร้อนในการทำงานน้อยและไม่เกิดเสียงรบกวนขณะอ่านหรือเขียนข้อมูล เนื่องจากไม่มีส่วนไหนเคลื่อนไหวเลยขณะทำงาน และมีความทนทานมากกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน เพราะการทำงานฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนจะใช้หัวอ่านเคลื่อนไปกระทบกับตัวแผ่นเก็บข้อมูล ซึ่งถ้าได้รับแรงกระแทกหรือว่าแรงสั่นสะเทือนขณะที่กำลังทำงาน ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายของข้อมูลได้ นอกจากนี้ SSD ยังมีขนาดที่เล็กและบางกว่า แถมยังมีน้ำหนักที่เบากว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนอีกด้วย
และถึงแม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ SSD ก็ยังมีจุดด้อยที่ต้องแก้ไขและพัฒนากันอยู่ อย่างเช่น ปัจจุบัน SSD ยังมีขนาดความจุที่ยังน้อยกว่าฮาร์ดดิสก์แบบเดิมอยู่ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้หลากหลายและเต็มที่ และที่สำคัญยังมีราคาที่สูงกว่าอยู่มาก จึงไม่ค่อยนิยม นอกจากนี้แม้ว่าจะมีความทนทานมากกว่า แต่ว่ากลับมีอายุการใช้งานที่น้อยกว่า เนื่องจากว่า Chip ที่เก็บข้อมูลเป็นรูปแบบของ Flash จึงมีอายุการเขียนทับของข้อมูลที่จำกัด
ปัจจุบันมีโน้ตบุ๊กไม่กี่ตัวที่ใช้ SSD เป็นหน่วยเก็บข้อมูลแบบถาวร แต่ในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มว่า SSD จะมีความจุที่มากขึ้น และเชื่อว่าน่าจะมีราคาที่ต่ำลงไปตามกาลเวลาของโลกเทคโนโลยี ซึ่งตรงจุดนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เราได้เห็น SSD ในโน้ตบุ๊กกันมากขึ้น เพราะด้วยข้อดีที่กล่าวมานั้นไม่ว่าจะเป็น ขนาดที่เล็ก บาง และ เบา รวมถึงยังมีความทนทาน ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะปลอดภัย SSD จึงเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นหน่วยเก็บข้อมูลแบบถาวรสำหรับโน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับพกพา และใช้งานนอกสถานที่