SSD กับ HDD ต่างกันยังไง?
   0 ความคิดเห็น 2,587 เข้าชม + Share to my




                เป็นอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนเก็บความจำที่เราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยเห็นผ่านตากันอยู่ ไม่มากก็น้อย แต่เราก็เชื่ออีกเช่นกันว่าหลายคนยังไม่รู้ถึงความแตกต่างว่าเจ้าหน่วยบันทึกความจำบนโน้ตบุ๊คทั้งสองรูปแบบนี้แตกต่างกันอย่างไร แล้วจำเป็นหรือไม่ว่าของใหม่อย่าง SSD จะต้องดีกว่า วันนี้เราจะมาอธิบายให้ทุกคนได้รู้จักกับหน่วยเก็บความจำทั้งสองชนิดนี้กันมากกว่าเดิม เพื่อที่คุณๆ ทั้งหลายจะได้เข้าใจและรู้ว่าเราต้องการการใช้งานจากหน่วยความจำแบบไหนมากกว่ากัน

 



 

HDD: Hard-disk Drives เพื่อนเก่าที่คุ้นเคย

                HDD หรือฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลที่เราคุ้นชินกันมานานในหลักทศวรรษเลยก็ว่าได้ครับ โดยเจ้า HDD นั้นหลายคนก็จะติดปากเรียกกันว่า “ฮาร์ดดิสก์” หรือ “ฮาร์ดไดร์ฟ” ซึ่งถ้าใครเคยจัดการถอดเจ้า HDD นี้ออกมาจากคอมพิวเตอร์ก็น่าจะเคยได้เห็นเจ้ากล่องเหลี่ยมๆ หนาประมาณหนึ่งนิ้วนี้กันมาบ้าง แต่สำหรับบนโน้ตบุ๊คนั้น HDD จะมีขนาดเล็กลงโดยส่วนใหญ่จะมาในขนาด 2.5 นิ้ว ซึ่งก็ถือว่าเล็กอีกเช่นกัน โดยในการทำงานของฮาร์ดดิสก์แบบเก่านั้นภายในจะมีจานแม่เหล็กที่ใช้เก็บข้อมูลวางอยู่ และเมื่อเราเริ่มใช้งานฮาร์ดดิสก์นั้น จานแม่เหล็กที่ว่าก็จะทำการหมุน และเข็มหัวอ่าน/เขียนก็จะขยับไปยังตำแหน่งต่างๆ เพื่อเรียก หรือสร้างข้อมูล ซึ่งอธิบายให้เห็นภาพกันสักนิดก็คงเหมือนกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดย่อส่วนนั่นเอง โดยเทคโนโลยีที่ใช้บน HDD นั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องพื้นฐานและใช้งานง่าย คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คส่วนใหญ่ก็รองรับ HDD แบบเก่ากันอยู่แล้ว โดยหากจะพูดถึงจุดเด่นของเจ้า HDD นั้นก็อยู่ที่เรื่องของขนาดความจุที่มักจะมากับขนาดใหญ่ (ปัจจุบัน HDD บนโน้ตบุ๊คนั้นมีมาตรฐานอยู่ที่ 500 GB ขึ้นไป)  รวมไปถึงราคาค่าตัวที่เรียกได้ว่าเมื่อเทียบปริมาณความจุแล้ว HDD ยังคงถูกกว่า SSD พอสมควรทีเดียวครับ โดยในเรื่องของความเร็วการทำงานนั้น HDD แต่ละรุ่นก็จะมีความเร็วรอบระบุอยู่ เช่น 5400 rpm หรือ 7200 rpm ซึ่งยิ่งความเร็วการหมุนสูง ฮาร์ดดิสก์รุ่นนั้นก็สามารถเขียนหรือเรียกข้อมูลได้เร็วขึ้นนั่นเอง ซึ่งฮาร์ดดิสก์ในปัจจุบันที่ทำงานได้เร็วที่สุดนั้นก็สามารถทำงานได้ที่ความเร็วประมาณ 120 MB ต่อวินาที ซึ่งแน่นอนว่าความเร็วของมันยังไม่เท่ากับ SSD อย่างแน่นอน แต่จุดแข็งที่หลายคนยังไม่เปลี่ยนใจไปใช้ SSD ก็เพราะว่ามันให้พื้นที่เก็บข้อมูลค่อนข้างเยอะกว่า SSD นั่นเอง

 



 

SSD หน่วยเก็บข้อมูลความเร็วสูง

                SSD หรือ Solid State Drive นั้นความจริงแล้วมันถูกพัฒนาและผุ้คนก็ได้ทำความรู้จักกับมันมาพักใหญ่ๆ แล้ว หากเพียงแต่ว่ายังไม่ค่อยมีอุปกรณ์ที่เหมาะจะนำ SSD มาใช้เท่าไหร่นัก แต่เมื่อเราเข้าสู่ยุคของอัลตร้าบุ๊คที่ต้องการความเร็วสูง และน้ำหนักที่เบาเพื่อพกพาง่ายแล้ว การเลือกใช้ SSD เป็นส่วนประกอบของอัลตร้าบุ๊คจึงลงตัวที่สุดนั่นเอง ซึ่งเจ้า SSD นั้นก็เป็นหน่วยเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่งที่เลือกใช้ Flash Memory แบบเดียวกับ Flash Drive หรือ SD Card มาเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลแทนที่จานแม่เหล็กแบบ HDD  ซึ่งนั่นทำให้เจ้า SSD นั้นสามารถลดขนาดลงได้ พร้อมทั้งยังไม่ต้องใช้หัวอ่านจานหมุนอีกต่อไป ทำให้ไม่เกิดไม่เกิดเสียงดัง ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการเสียดสีและกระแทก จึงทำให้ SSD นั้นไม่สร้างความเสียหายให้กับตัวอุปกรณ์เมื่อใช้งานไปนานๆ ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจุดเด่นจากเจ้า SSD เท่านั้น เพราะว่าอีกหนึ่งจุดเด่นของ SSD ก็คือมันมีส่วนที่ควบคุมพิเศษ (คล้ายกับ CPU) ที่ใช้สั่งการทำให้อ่านเขียนข้อมูลได้เร็วมากๆ รวมไปถึง SSD นั้นยังมี Access Time หรือเวลาที่ใช้ในกรเข้าถึงข้อมูลที่น้อยกว่า HDD เพราะมันเป็นการข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลที่ไม่ต้องใช้หัวอ่านเลื่อนไปยังพื้นที่บนจานแม่เหล็กแบบเดิมๆ ทำให้คุณสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เก็บอยู่ภายในได้มากกว่า HDD นับสิบเท่าเลยทีเดียว โดยเมื่อเรามาสรุปถึงจุดเด่นของเจ้า SSD แล้วก็ต้องบอกว่า SSD นั้นสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่า HDD มากมาย รวมไปถึงทนทานกว่าเพราะมันไม่มีการเสียดสี และที่สำคัญคือการกระจายไฟล์ (File Fragmentation) นั้นไม่ทำให้ SSD ทำงานช้าลง ซึ่งในสว่นนี้อาจจะต้องอธิบายเสริมกันอีกสักนิดว่า HDD แบบเก่านั้นเมื่อคุณใช้งานไปนานๆ การเก็บข้อมูลก็จะกระจัดกระจายอยู่ภายในทำให้ระบบทำงานช้าลง คุณจึงต้องทำการ Defragment กันอยู่เรื่อยๆ แต่กับ SSD นั้นไม่มีความจำเป็นต้อง Defrag แต่อย่างใดครับ โดยในส่วนของจุดด้อยของ SSD นั้นก็คงเป็นเรื่องของขนาดความจุและราคา ที่เมื่อเทียบกับ HDD แล้วมันยังคงแพงอยู่พอสมควรนั่นเอง และอีกหนึ่งสิ่งที่คุณๆ ควรทราบไว้ก็คือ “การเสียหาย” ของ SSD ซึ่งมันแตกต่างจาก HDD แบบน่ากังวลทีเดียว เพราะแต่เดิมนั้น HDD อาจจะเกิดการเสียหายแค่บางส่วน หรือที่เรียกว่า Bad Sector ซึ่งเรายังพอจะทำการจัดการแบ็กอัพได้ทันท่วงที แต่กับ SSD แล้วเมื่อมันเกิดการเสียหายข้อมูลทั้งหมดในนั้นก็สลายหายไปทั้งหมดในทันทีครับ แต่อย่างไรก็ดี SSD นั้นเหมาะกับผู้ใช้ที่เน้นการทำงานที่รวดเร็ว บนอุปกรณ์ที่เน้นการพกพาอยู่เสมอ และอาจจะต้องมี Cloud Storage มาเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานนั่นเอง

 



 

Hybrid HDD หน่วยความจำลูกผสม

                ไหนๆ ก็ว่ากันถึงเรื่องของ SSD และ HDD กันไปแล้ว เราก็ขอแถมกันอีกสักนิดถึงเรื่องของหน่วยความจำแบบ Hybrid หรือลูกผสมที่ช่วงหลังๆ เราได้เห็นกันอยู่บ่อยอีกเช่นกัน ซึ่งเจ้า Hybrid HDD ที่ว่านี้ก็เป็นไปตามชื่อของมันครับ เพราะมันคือการรวมร่างระหว่างหน่วยความจำแบบฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟกับ SSD ซึ่งนั่นทำให้คุณสามารถใช้มันเก็บข้อมูลปริมาณมากได้ โดยยังคงเอาความเร็วของ SSD มาผสานในการทำงานด้วย โดยข้อมูลส่วนใหญ่นั้นจะเก็บเอาไว้บนจานหมุนแบบ HDD แต่ข้อมูลระบบที่เรียกว่า Cache หรือไฟล์ที่เราเรียกใช้งานบ่อยๆ นั้น มันจะถูกย้ายไปเก็บไว้ใน Flash Memory เพื่อการเปิดใช้งานที่รวดเร็วกว่านั่นเอง 

Comments Top

world vision