ถึงแม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เราไม่ค่อยนึกถึงกันมากนัก แต่เอาจริงๆ แล้ว นอกเหนือจากอุปกรณ์อย่าง Flash Drive แล้ว หน่วยเก็บความจำเคลื่อนที่อย่าง External Hard Drive ก็เป็นสิ่งจำเป็นในยุคที่ข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟู เรามีไฟล์ทั้งความบันเทิง และการทำงานมากมายที่ต้องเก็บไว้ ถึงแม้ว่าจะมีบริการ Cloud Storage มากมายดังนั้นแล้วการเลือกซื้ออุปกรณ์ที่จะช่วยให้คุณพกพาไฟล์เหล่านั้นไปได้ทุกที และปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม วันนี้เราจึงจะมาแนะนำปัจจัยต่างๆ ที่คุณควรคิดก่อนจะซื้อ External Hard Drive หรือ Portable HDD ให้ได้รู้จักกัน โดยจะขอแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ตามนี้ครับ
ระบบปฏิบัติการ
แน่นอนว่านอกจากเรื่องของแบรนด์หรือยี่ห้อที่เราใช้งานโน้ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์แล้ว การทำงานบนระบบปฏิบัติกายอดฮิตอย่าง Mac และ Windows นั้นก็มีรูปแบบหรือระบบของการจัดการไฟล์ที่แตกต่างกันไป สำหรับ Windows ก็มีการใช้งานประเภท FAT 32 หรือ NTFS ในขณะที่ทางด้าน Mac นั้นจะเป็นรูปแบบการเก็บไฟล์ HFS+ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว External Hard Drive จะมีการผลิตในรูปแบบเฉพาะของแต่ละระบบปฏิบัติการ (บางรุ่นอาจจะทำงานได้ทั้งสองระบบแต่ต้องมีการตั้งค่าและ Format ก่อนใช้งาน) โดย External Hard Drive ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานกับ Mac OS นั้นอาจจะไฟล์จาก NTFS ได้ แต่ก็ไม่สามารถเขียนลงไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคอ Mac ที่ต้องการใช้งาน External Hard Drive ทั้งสอง Format ก็สามารถใช้แอพพลิเคชั่นอย่าง NTFS-3G เพื่อนำมาทำงานได้ แต่อย่างไรก็ตามเราขอแนะนำให้คุณเลือกใช้ External Hard Drive ที่ผลิตมาเฉพาะตัวสำหรับ OS ของตัวเอง เพื่อการทำงานที่ไม่ติดขัด และลดข้อผิดพลาดจะดีกว่าครับ
ขนาดข้อมูลที่ต้องการใช้งาน
แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คุณต้องคำนึงถึงก็คือเรื่องของจำนวน และขนาดของไฟล์ที่ต้องการเก็บไว้บน External Hard Drive นั่นเองครับ เนื่องจากว่าในตลาดนั้น คุณจะได้เห็นตัวเลือกมากมายหลายแบบสำหรับ External Hard Drive ที่มีให้เลือก แต่สิ่งสำคัญคือขนาด หรือความจุของมันนั่นเอง โดยให้คุณสังเกตุการใช้งานของตัวเอง มีการเก็บไฟล์มากน้อยขนาดไหน และรูปแบบใด หากคุณเป็นคนที่ต้องเก็บไฟล์ประเภทมัลติมีเดีย เช่น VDO ไฟล์ภาพ หรือกราฟิกจำนวนมากแล้ว พื้นที่บน External Hard Drive ก็คงต้องมีมากตามไปด้วย ในตอนนี้ขนาดน้อยๆ ที่มีให้เลือกนั้น 250 GB ก็ดูน่าจะเล็กที่สุดที่มีไปแล้ว ซึ่งจำนวนหรือความจุที่ External Hard Drive มีนั้น ก็จะมีราคาค่าตัวที่แตกต่างกันไป โดยมีสูตรคำนวนคร่าวๆ ดังนี้ครับ หากเป็นไฟล์เพลง ตัวเลขก็จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 MB ต่อ 1 เพลง (ยกตัวอย่างจากไฟล์ MP3) หากคุณมีเพลงมากน้อยเท่าใดก็ลองนับไว้ แล้วคุณไปด้วย 4 ก็จะได้ปริมาณข้อมูลคร่าวๆ ของเพลงของคุณนั่นเอง ในขณะที่ไฟล์วิดีโอประเภท HD ทั่วไปนั้น ก็จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณเกือบๆ 1 MB ต่อวินาที แต่โดยมากแล้วหากคุณดาวโหลดไฟล์จากเว็บไซต์ หรือเก็บไฟล์หนังจาก DVD นั้นก็จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5 – 4.5 GB ต่อหนึ่งเรื่อง ขณะที่ภาพถ่ายนั้น ก็อาจจะกำหนดลงไปได้ยากสักนิด เพราะกล้องแต่ละรุ่น หรือรูปแบบของไฟล์ที่แตกต่างกันก็จะมีขนาดแตกต่างกัน แต่ก็คิดง่ายๆ ว่าประมาณ 2 MB ต่อ 1 ภาพ ก็น่าจะได้ตัวเลขคร่าวๆ นั่นเองครับ เมื่อเราทราบปริมาณข้อมูลที่มีแล้ว ก็น่าจะคิดได้คร่าวๆ แล้วว่าจะต้องซื้อ External Hard Drive ขนาดเท่าไหร่ดีนั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของราคาค่าตัวแล้ว ยิ่งคุณซื้อ External Hard Drive ที่มีความจุมากเท่าไหร่ ก็เรียกได้ว่าคุ้มค่ากว่าครับ เพราะยิ่งคุณซื้อ External Hard Drive ที่มีความจุมาก หากลองหารกับราคาค่าตัวดูจะพบว่าความจุที่ให้มานั้น จะมีราคาถูกกว่ารุ่นที่จุได้น้อยกว่านั่นเอง
ความเร็วการหมุน
นี่ก็เป็นสเปกที่เหมือนๆ กันกับฮาร์ดไดร์ฟที่ใช้งานบนคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ค เรากำลังพูดถึงความเร็วรอบในการหมุนของ External Hard Drive นั่นเองครับ (เราหมายถึงในรูปแบบ HDD เท่านั้น เพราะหากคุณเลือกใช้แบบ SSD แล้ว มันจะมาในรูปแบบ Flash Memory ที่ไม่มีดิสก์หรือจานหมุน) โดยในข้อนี้นั้นก็มีหลักการจำง่ายๆ ว่า ยิ่งตัวเลขการหมุน (RPM) เร็ว External Hard Drive ของคุณก็จะยิ่งทำงานทั้งอ่านและเขียนได้เร็วกว่า โดยตัวเลขที่เราได้เห็นบ่อยๆ ก็คือ 7200 RPM และ 5400 RPM ซึ่งก็ขอย้ำอีกทีว่ายิ่งตัวเลขเยอะยิ่งทำงานได้เร็ว แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณมีงบประมษณที่สูงสักหน่อย ก็อาจจะเลือก External Hard Drive รุ่นแพงๆ ที่ทำงานบนความเร็วระดับ 10,000 RPM ได้อีกเช่นกัน
อินเตอร์เฟซ
เรื่องของอินเตอร์เฟซหรือการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อื่นๆ นั้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะถึงแม้ว่าโดยหลักๆ แล้วเรามักจะใช้งาน USB Port กันเป็นหลัก แต่บรรดาสเปกของ External Hard Drive ในส่วนที่คุณจะใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ นั้นก็มีผลกับการใช้งานจริงอยู่มากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น หากเป็น USB Port คุณก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้งาน External Hard Drive ที่มีพอร์ท USB 2.0 หรือ USB 3.0 เพราะความเร็วในการส่งและอ่านข้อมูลนั้น ทั้งสองเวอร์ชั่นมีความแตกต่างกันหลายเท่าตัวทีเดียว โดยเฉพาะหากเป็น USB 3.0 รุ่นใหม่ ที่อาจจะทำให้คุณสามารถใช้งานความเร็วระดับ USB 3.0 ได้แม้คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คของคุณมีแต่ USB 2.0 เท่านั้น
นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีพอร์ทการใช้งานใหม่ๆ มากมาย เช่น Thunderbolt ซึ่งจะเป็นพอร์ทที่มีหัวหรือ Slot ที่แตกต่างจาก USB จึงต้องการอุปกรณ์ที่รองรับมันเท่านั้น แต่ความพิเศษของมันก็คือสามารถทำงานได้รวดเร็ว USB 3.0 ถึงสองเท่าตัว โดยทางทฤษฏีแล้ว อาจจะส่งได้ที่ความเร็วระดับ10 Gbps หรือแปลได้ง่ายๆ ว่า วินาทีละเกือบๆ 1GB เลยทีเดียว โดยในปัจจุบันนั้น อุปกรณ์รุ่นใหม่จากแบรนด์ Apple นั้นก็จะมากับพอร์ท Thunderbolt นี้เกือบหมดแล้ว ในขณะที่อุปกรณืทางฝั่ง Windows นั้นอาจจะมีไม่ทั่วถึงครับ รวมไปถึงพอร์ทดั้งเดิมที่เห็นกันมาสักพักอย่าง FireWire นั้นก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงที่สามารถใช้งานทั้งบน Mac และ PC โดย FireWire รุ่นใหม่ๆ (FireWire 800) ก็สามารถส่งข้อมูลได้เร็วไม่แพ้ USB 3.0 เลยทีเดียว
อุปกรณ์เสริม
อุปกรณ์เสริมในที่นี้นั้นเรากำลังพูดถึงเรื่องของเคสมันนั่นเองครับ เพราะถึงแม้ว่าเกือบทั้งหมดของ External Hard Drive นั้นจะมากับเทคโนโลยีที่ขนาดฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้ว แต่รูปร่างหน้าตาของเจ้า External Hard Drive แต่ละแบรนด์แต่ละรุ่นนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่มากทีเดียว ดังนั้นคุณจึงจะได้เห็น External Hard Drive หลายขนาดให้ใช้งาน ซึ่งปัจจัยที่เรากำลังพูดถึงก็คือเรื่องเคส หรือกล่องใส่ เพราะว่า External Hard Drive นั้นยังคงทำงานด้วยระบบจานหมุน ซึ่งการตกหรือกระแทกนั้นมีความสำคัญที่อาจจะส่งผลให้คุณสูญเสียข้อมูลทั้งหมดในนั้นไปก็ได้ดังนั้น หากดูจากปัจจัยด้านบนที่เราพูดถึงไปแล้ว ลองมาดูเรื่องของเคส กระเป๋า หรือซองใส่เป็นทางเลือกเอาไว้ เพราะในบางรุ่นคุณอาจจะได้รับกล่องหนาแน่แข็งแรงช่วยเสริมการป้องกันข้อมูลได้ ในขณะที่บางรุ่นคุณอาจจะได้แค่ซองบางๆ ที่ปกป้องแค่เพียงรอยขีดข่วนด้านนอก แต่ไม่ปกป้องข้อมูลข้างในได้เลย
ปิดท้ายบทความนี้กันด้วยเรื่องของฟีเจอร์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทีมีอยู่ใน External Hard Drive กันดีกว่าครับนอกเหนือจากปัจจัยที่เราพูดถึงไปทั้งหมดแล้ว ในบางแบรนด์อาจจะแถมซอฟแวร์ที่ช่วยการใช้งานให้ง่าย หรือปลอดภัยขึ้น บางแบรนด์เช่น Buffalo หรือ WD จะมีซอฟแวร์ที่ใช้ในการเข้ารหัส External Hard Drive ของคุณเพื่อไม่ให้ใครที่แอบหยิบไปใช้งานหรือเข้าถึงข้อมูลได้ บางแบรนด์อาจจะมีฟังก์ชั่นประเภทลดแรงกระแทกเพื่อห้องกันข้อมูลเสียหาย ซึ่งทั้งหมดนั้นก็น่าจะช่วยให้คุณใช้งาน External Hard Drive ได้อย่างสบายใจมากขึ้น และที่สำคัญคือการเลือกซื้อ External Hard Drive ที่เหมาะกับการใช้งานของคุณนั้นย่อมเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดในการเสียเงินซื้ออุปกรณ์เก็บข้อมูลสักเครื่องอย่างแน่นอน